วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

US TRIP "มุมมองนักบริหาร"

US TRIP
“มุมมองนักบริหาร”

ชฎิล นิ่มนวล... เรื่อง/ภาพ

เมื่อกลางเดือนตุลาคม ที่ผ่านมาผมมีภารกิจต้องไปศึกษาดูงานและพักผ่อนที่สหรัฐอเมริกา จึงถือโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อยๆ ในมุมมองของนักบริหาร มาฝากท่านผู้อ่าน ลองคิดเทียบเคียงและติดตามอ่านดูครับ!
ผมออกเดินทางจากประเทศไทย ระหว่างการเปิดใช้ท่าอากาศยานแห่งใหม่ ที่มีชื่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อสนามบินแห่งใหม่นี้ว่า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Suvanabhumi Airport)” พร้อมทั้งความหมายให้กับสนามบินแห่งนี้ว่า “แผ่นดินทอง” ใหญ่โต ทันสมัยหรูหราวิจิตตระการตา บนเนื้อที่ 20,000ไร่ ใหญ่กว่าสนามบินดอนเมือง 6 เท่า สมภาคภูมิใจของคนไทย ใช้เงินงบประมาณ 121,000 ล้านบาท กับการลงทุน เพื่อรองรับผู้คนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยการถอดแบบมาจากสนามบินเอเธนส์ สนามบินที่ได้ชื่อว่าไฮเทคแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าหลายคนจะค่อนแคะว่าขาดโน่นทุจริตนี่ ถ้าดูด้วยใจเป็นธรรม ผมว่าทำได้ขนาดนี้ก็ถือว่าสอบผ่าน คงไม่มีใคร ทำอะไร แล้วผ่านการประเมินผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ใครคอรัปชั่น? มีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร? ก็ตามแก้ ว่ากันไปตามกฎหมาย รอดูผลการตรวจสอบ อย่าด่วนตัดสินกันเองเลยครับ! เอาน่าอะไรยังบกพร่อง ช่วยกันบอกกล่าวอย่างสร้างสรรค์ เพื่อหาแนวทางแก้ไข น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดครับ
TG 790 เครื่องบินของการบินไทย ทำหน้าที่พาคณะไปสู่สนามบิน J.F.K. (John F.Kennedy International Airport) ออกเดินทางเวลา 00.30 น. ด้วยระยะทางรวดเดียว (Direct Flight) 8,660ไมล์ (13,973 กม.) ผ่านการตรวจจากเมืองไทยเข้มงวด ของเหลว ครีมต่าง ๆ ห้ามนำติดตัวขึ้นเครื่อง ถือเป็นกติกาความปลอดภัยสากลที่ทุกคนต้องยอมรับ
แม้ว่าระยะเวลาที่แสนยาวนานร่วมสิบเจ็ดชั่วโมง จะทำให้ผู้โดยสารทุกคนรวมทั้งผม มีอาการเมื่อยล้าอยู่บ้าง แต่การบริการของสายการบินไทยด้วยอาหารและเครื่องดื่มทั้ง 3 มื้อ ช่วยทำให้ผ่อนคลายลงได้บ้าง การเข้าห้องน้ำเป็นระยะ ๆ เป็นอีกวิธีที่ได้เดินยืดเส้นยืดสาย หรือการผ่อนคลายตามวิดีโอสาธิตต้นรายการต่างๆ ในทีวีหน้าที่นั่งช่วยได้อีกทางหนึ่ง โชคไม่ดีผมนั่งหลังสุดติดห้องน้ำ (58K) ตลอดระยะการเดินทางจะได้ยินเสียงกดน้ำและมีแรงดูดจากอากาศภายนอกเพื่อชำระล้าง เสียงดังรบกวนฉะนั้น ควรเลือกที่นั่งกลาง ๆ ดีที่สุดครับ
เครื่องลงแตะสนามบิน เจ.เอฟ.เค. (J.F.K.) ที่ นิวยอร์ค (NEW YORK) ตรงตามตารางเวลาการบินในตอนเช้าตรู่ เวลาที่นี่ช้ากว่าเมืองไทย 13 ชั่วโมง เปลี่ยนเป็น 12 ชั่วโมงอีกครั้งในวันที่ 30 ตุลาคม การตรวจคนเข้าเมืองไม่ยุ่งยากอย่างที่คาด เพียงถามว่าอยู่นานเท่าไร? เอาเงินสดมาเท่าไร? มีของที่ต้องสำแดงหรือไม่? ผมปฏิบัติตามกติกาสากลจึงเสร็จพิธีการตรวจคนเข้าเมืองเพียง 5 นาที ออกมารอคณะ แรกเริ่มคิดว่าสนามบินแห่งนี้เล็ก ๆ เพราะอยู่อาคาร แต่พอออกมาด้านนอกของตัวอาคาร ที่ไหนได้ เขาแบ่งเป็นอาคารๆ มากถึง 9 อาคาร แยกแต่ละสายการบินในแต่ละอาคาร ไม่ปะปนกัน การบินไทย ใช้อาคาร 4 คนไม่มาก เพราะช่วงเวลาเช้ามีเพียงเที่ยวเดียวที่มีลง
รถโค้ชที่บริษัททัวร์จัดมารอรับคณะเพื่อเดินทางไปยัง เมือง บัฟฟะโล รัฐนิวยอร์ค (Buffalo, NewYork City) เป็นที่ตั้งของน้ำตกไนแองการา (Niagara Falls) อยู่ด้านเหนือติดกับเมือง ออนทาริโอ ประเทศแคนาดา (Ontario Canada) เราออกจากสนามบินค่อนข้างล่าช้า รอคณะบางคน ดังนั้น โปรแกรม ที่จะต้องแวะรับประทานอาหารกลางวัน จึงต้องเลื่อนออกไป เปลี่ยนเป็นว่า แวะที่สถานีบริการ (Service Area) หาอะไรประทังความหิวไปก่อน ตลอดระยะทางขึ้นทางเหนือสู่ประเทศแคนาดา ถนนที่ทอดตรงขนาดใหญ่หกเลน สองข้างทางสวยงามด้วยไม้ยืนต้น ส่วนมากเป็นต้นเมเปิล (Maple) ช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) สีสันสวยงามแต่งแต้มด้วยเฉดสีเขียวแซมเหลือง ผสมสีส้มอมแดง บ้างร่วงให้เห็นเป็นระยะ ๆ งามตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยมาในช่วงฤดูใบไม้ร่วง คนขับรถเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ขับรถทำเวลา กลัวจะมืดต้องเสียค่าล่วงเวลา ที่นี่ค่าแรงคิดเป็นชั่วโมง แพงอย่าบอกใครเชียว
คณะเรามาถึง แวะรับประทานอาหารเย็นตอนทุ่มเศษ เข้าพักที่โรงแรม โฟร์ พอยท์ (Four Points Hotel) ตั้งอยู่ใกล้น้ำตกไนแองการา (Niagara Falls) ผมถือโอกาสออกมาสำรวจดูบรรยากาศยามค่ำคืนก่อนใคร ๆ อากาศที่นี่เย็นฉ่ำ สายน้ำที่ไหลในความมืด แสงไฟจ้าสลับสีจาก สปอตไลท์ (Spotlight) ส่องให้เห็นเกลียวคลื่นผสมผสานเสียงน้ำ ซ่านซ่า เป็นมนต์ขลังสะกดให้ผมเดินทอดอารมณ์ คิดถึงอะไรต่อมิอะไรเรื่อยเปื่อย นานมากแล้วที่ไม่มีโอกาสเดินคนเดียว ปล่อยความสับสนทั้งหลายทั้งปวง พักอารมณ์อยู่กับธรรมชาติที่ใครต่อใครอยากเห็น อยากชื่นชม เพราะเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกที่เกิดมานานหลายพันปี เดินเรื่อยเปื่อยไปจนถึงจุดบริเวณน้ำตกไนแองการา (Niagara Falls) ฝั่งอเมริกา (America) ฝั่งตรงข้ามเป็นเมืองออนทาริโอ (Ontario) ของประเทศแคนาดา (Canada) ลำแสงไฟหลายหลากสีสัน ผสมสลับจากฝั่งออนทาริโอ สาดส่องมายังสายน้ำที่ฟุ้งกระจายพลุ่งพล่านอย่างน่าสะพรึงกลัว ดูสวยงามแปลกตา ผมพยามหามุมที่สวยที่สุดบันทึกความงามเหล่านั้นมาฝากท่านผู้อ่าน



ภาพน้ำตกไนแองการา (Niagara Falls) ยามค่ำคืนที่สวยงามแปลกตา
ใช้เวลานานพอสมควรกับการลืมเรื่องราวที่สลับซับซ้อน ปล่อยเวลาให้ผ่านไปกับสายตาที่ทอดไกล หัวใจที่อิ่มเอิบกับธรรมชาติ ทำให้รู้ซึ้งถึงธรรมะที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือความสุขที่แท้จริง ไม่ได้ปรุงแต่งใดๆ เลย ดึงใจที่ฟุ้งซ่านให้สงบเย็นนิ่ง เกิดความสุขอย่างประหลาด ยากต่อการบรรยาย เสียงที่เกิดจากสายน้ำ ลมเอื่อย ๆ อากาศเย็นสบาย ละอองน้ำที่ใสสะอาดปะทะผิวหน้า สร้างบรรยากาศ ที่ผมพยายามบันทึกใส่ความทรงจำ ไม่อยากให้เลือนหายแม้ว่ารู้ทั้งรู้ไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราอย่างจีรังยั่งยืน ขอเก็บความรู้สึกด้วยความทรงจำและร้อยเรียงเป็นตัวอักษร เมื่อไรที่ได้มีโอกาสอ่านทวนซ้ำให้ได้หวนคิดถึงวันแห่งความสุขที่แท้จริง หรือในห้วงของความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามา ยังได้เยียวยาให้จิตใจเกิดพลังต่อสู้อุปสรรคที่กำลังเผชิญได้อย่างมั่นคง
คืนแห่งการปรับตัว เกิดอาการนอนไม่หลับจนรุ่งเช้า ผมกับพี่ไมตรี นอนห้องเดียวกัน ลงมารับประทานอาหารเช้า จากนั้นจึงชักชวนเดินบริเวณน้ำตกในยามเช้าตรู่อีกครั้ง ก่อนเวลานัดหมายที่จะลงเรือชมความงามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าอาการเหนื่อยอ่อน (Jet Lag) เกิดอาการสะลึมสะลือ ไม่ได้ทำให้ ความงดงาม ความสดชื่น ความเป็นธรรมชาติที่ถูกบรรจงสร้างสรรค์ กลับสร้างความอิ่มเอมใจไม่รู้ลืม ถึงเวลานัดหมายเราทั้งคณะจึงเดินมาพร้อมกันเพื่อรับตั๋วลงเรือ ก่อนลงเรือเราเดินออกมาบริเวณจุดหอชมทัศนียภาพ (Prospect Point Observation Tower) บริเวณดังกล่าวเป็นทั้งจุดชมวิว และลิฟต์สำหรับลงด้านล่างเพื่อลงเรือ สูง 250 ฟุต สูงมากพอที่จะใช้ในการชมภาพมุมสูง และสร้างบรรยากาศแห่งความงดงาม เมื่อมองด้านหน้าซ้ายมือเป็นไนแองการา (Niagara Falls) ด้านอเมริกา (America) ตรงไปเป็นด้านของแคนาดา ขวามือเป็นเมืองออนทาริโอ (Ontario) ของแคนาดา (Canada) มีตึกสูงสลับซับซ้อน ด้านล่างมีเรือ เมด ออฟ เดอะ มิสท์ (Maid of the Mist) วิ่งนำคณะท่องเที่ยวชมน้ำตกอย่างใกล้ชิด ด้านหลังเป็นสะพานเรนโบว์ (Rainbow Brige) ทอดข้ามระหว่างอเมริกาและแคนาดา
สายน้ำที่พุ่งสาดด้วยความแรง 40 ล้านแกลลอนต่อนาที (ช่วงฤดูการท่องเที่ยว) โยนตัวตามแรงโน้มถ่วงของโลก ปะทะกลุ่มก้อนหินหลากหลายระดับเกิดการแตกกระเซ็น เป็นละอองฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ทำให้ภาพของต้นไม้ สีสัน ตึกระฟ้า ก้อนหินที่เป็นชะง่อนลดเลือนความคมชัดลง เห็นถึงศิลปะที่ธรรมชาติบรรจงสร้างสรรค์ หากมีหัวใจศิลปะ คงหลงใหลไปกับธรรมชาติที่ผสมผสานให้เกิดความรู้สึกของอารมณ์ในแต่ละตัวบุคคลได้อย่างอ่อนละมุน นุ่มนวลในความรุนแรงอย่างสมดุล ฟองน้ำที่ฟูฟ่องในแม่น้ำไนแองกาลา (Niagara River) แต่งแต้มสีสันและแบ่งโทนของน้ำไม่ให้เข้มเกินไป แม้ว่าสภาพอากาศจะไม่เป็นใจ เมฆสีเทาครึ้มแพร่กระจายเต็มไปทั่ว บดบังสีสันของฟ้าครามที่เคยเป็น ให้อารมณ์อย่างกลมกลืนได้ไปอีกแบบหนึ่ง
ลิฟต์พาคณะเราลงมาด้านล่าง ใส่เสื้อป้องกันละอองน้ำที่เจ้าหน้าที่เตรียมให้ อากาศสัปดาห์นี้หนาวเย็น และเป็นสัปดาห์สุดท้ายที่จะเปิดให้บริการเรือสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อชมน้ำตกอย่างใกล้ชิดทั้งที่เมื่อสัปดาห์ก่อนรายงานข่าวอากาศของที่นี่แจ้งว่ามีหิมะตกสูงจากถนน 2 ฟุต เราลงเรือที่ท่าเรือหอจุดชมวิว (Prospect Point Observation Tower) เพื่อแล่นเลียบใกล้ไนแองการา (Niagara) ด้านอเมริกาผ่านละเลยไปยัง ด้านออนทาริโอ (Ontario) ของแคนนาดา (Canada) และวนเข้าด้านเว้าคล้ายเกือกม้า (Horseshoe Basin) จุดที่ใคร ต่อใครต้องการอยู่ใกล้ชิด (การลงเรือชมนี้ มีทุกวัน ตั้งแต่ 09.00 น. เริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน จนถึง ประมาณวันที่ 24 ตุลาคม ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้ามีหิมะตกก็อาจจะปิดก่อนกำหนด ยกเว้นกลางเดือนมิถุนายน จนถึงต้นเดือนกรกฎาคม เริ่ม 10.00 น.) ช่วงนี้น้ำจะลดความแรงลง ถึงอย่างไรละอองที่ฟุ้งกระจายจนทำให้ภาพลางเลือน อีกทั้งอากาศที่ไม่แจ่มใส รูปที่ได้จึงไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง อย่างไรก็ดี อะไรที่หาดูยาก ไปยาก ตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ คนเราก็เกิดความต้องการที่จะดูอย่างใกล้ชิด เป็นความสุขครับ! ถือว่าสวยงาม ตื่นเต้น เร้าใจไปอีกแบบ ผมอยากให้สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยเห็นความสำคัญเพราะธรรมชาติที่ให้มาไม่ต้องลงทุนมาก เขาเก็บเกี่ยวทั้งกลางวันกลางคืนเพราะต้นทุนต่ำ เพียงเสริมไฟเข้ามาก็ดูสวยงามน่าชมเพิ่มขึ้นในยามค่ำคืน
วันที่สาม โปรแกรมถูกขยับเป็นเดิน ช็อปปิ้ง (Shopping) ที่ วูดเบอร์รี่ คอมมอน พรีเมี่ยม เอาเลตส์ (Woodbery Common Premium Outlets) ใช้เวลาทั้งวันอยู่ใน Outlets ผมไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการจับจ่ายในลักษณะนี้ แต่เมื่อมาแล้วจะปล่อยให้โอกาสนั้นล่องลอยไปก็ใช่ที่ กลับเดินดูทุกร้านที่มีอยู่หลากหลาย ทั้งแบรนด์เนม (Brand Name) ที่รู้จักและไม่รู้จัก เข้าไปดูการจัดการและการตกแต่ง การขาย การทำโปรโมชั่นจูงใจลูกค้า เมื่อเลือกหยิบดูสินค้าพลิกไปพลิกมา ไม่เห็นมี Made in U.S.A. แม้ว่าคุณภาพจะดีแค่ไหน เห็นแต่ ทำใน อินโดนีเซีย จีน เม็กซิโก ไทย และอีกหลายประเทศที่ไม่คุ้น อย่างน้อยก็มี Made in Thailand ให้ชื่นใจก็ถือว่าใช้ได้ เสื้อผ้าราคาที่ลดแล้วลดอีก ตกรุ่นแต่สไตล์ (Style) ยังไม่ล้าสมัย ราคาเมื่อเทียบในเมืองไทยยังแพงกว่า 2-3 เท่าครับ การจัดรวมแแบรนด์เนม (Brand Name) ใน Outlets ที่นี่จัดรวมไว้มากมาย และเป็นหมวดหมู่ เรียกว่าเป็นเมืองเลยก็ว่าได้ อย่างนี้เมืองไทยยังไม่มี ที่ยุโรปทำแล้ว แถมมีแผนที่แสดงที่ตั้งชัดเจน มีบุ๊คเล็ท (Booklet) ส่วนลดตามแต่ละแบรนด์ (Brand) ที่ร่วมรายการตั้งแต่ 5-20 %
สภาพอากาศวันนี้ ฝนตกปอย ๆ ลมโชยเย็นยะเยือก กรรโชกเป็นบางครั้ง หลายคนต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อซื้อร่ม ที่นี่อากาศเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เพื่อให้สมกับนิสัยคนไทยบางกลุ่มที่นิยมจับจ่ายสินค้าที่ตนเองชมชอบ ไม่ว่ากระเป๋าถือชื่อดัง กางเกงยี่ห้อดังของอเมริกา เพื่อนคนหนึ่งซื้อกระเป๋าสตางค์ แบรนด์เนม (Brand Name) ชำระด้วยบัตรเครดิต พนักงานรูดบัตรปรากฏว่ามีข้อมูลการซื้ออยู่แล้ว พนักงานกุลีกุจอหากระดาษบาง ๆ ห่อให้อย่างดี ดูเหมือนให้ความสำคัญต่อสินค้าและลูกค้า พูดคุยเป็นกันเอง และสุดท้ายมีของชำร่วยให้เป็นพิเศษ เพราะเคยเป็นลูกค้าเก่า เห็นไหมครับ เขาให้ความสำคัญกับการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management : CRM.) ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ กลับมาซื้อใหม่ กำไรเพิ่มด้วยการลดต้นทุนการจัดการ และยังไปบอกต่อ (Word of Mouth) เห็นหรือยังดูให้เกิดประโยชน์ก็เกิดประโยชน์ เอาเถอะครับ ! บังเอิญผมรสนิยมไม่ถึง จึงเลี่ยงมาหาของรับประทานเพราะ บ่าย 2 เข้าไปแล้ว ลองสั่ง “บะหมี่เป็ดน้ำ” มาลดความหิว ราคา 11 เหรียญ เล่นเอาหายอยาก “คุณวิทยา” ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทัวร์ ( Tour Leader) กระซิบบอกว่า “พี่ทาน ๆ ไปเถอะครับ ! ถ้ามัวคิดเป็นเงินไทยเดี๋ยวก็เป็นลมตายก่อน?” เขาพูดดูดีมีเหตุผล วันนี้กลับมาพักที่โรงแรมเดิมสูตรเดิมทุกอย่าง อาหารมื้อเย็นเป็นบุฟเฟ่ (Buffet) ที่ภัตตาคารจีนก่อนเข้าพักที่โรงแรมเพื่อพักผ่อนเตรียมตัวเที่ยวชม มหานครนิวยอร์ค (New York) ที่ทั่วโลกยกให้เป็นมหานครที่เจริญทุก ๆ ด้านของโลกในวันรุ่งขึ้นต่อไป
วันที่ สี่ เราใช้สูตร 7-8-9 คือตื่นนอน 7 โมงเช้า รับประทานอาหาร 8 โมงเช้า ออกเดินทาง 9 โมง เพื่อลงเรือเที่ยวชม อนุสาวรีย์เทพีแห่งเสรีภาพ (Statue of Liberty National Monument) อากาศเช้านี้ค่อนข้างเย็น ลมแรง ในนิวยอร์ค (New York) แม้ว่าจะเป็นวันหยุด รถราดูติดขัดไม่แพ้กรุงเทพเหมือนกัน ผู้คนมาจากหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่หลีกเลี่ยงในวันธรรมดา ถึงแม้ว่าจะมีรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่หลายสายก็ตาม กว่าจะถึงบริเวณที่ขึ้นเรือต้องใช้เวลาพอสมควร และรอกว่าจะถึงคิวขึ้นเรือ นานเอาการ
บนเรือ...ความงามเมื่อมองภาพระยะไกลงามสมคำเล่าลือที่เคยฟังมา ยอมรับว่าเคยเห็นแต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ สมัยเรียนหนังสือตอนเด็ก เรือยิ่งเคลื่อนตัวเข้าใกล้ ความสวยงามของอนุสาวรีย์เริ่มเด่นชัด เมื่อเหลียวหันดูท่าเรือและภาพที่ตั้งของมหานครนิวยอร์ค (New York) ให้เกิดความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของมหานครแห่งนี้ ยอดตึกที่ซับซ้อนสูงบ้างต่ำบ้างลดหลั่นกัน สะท้อนในเงาน้ำ สวยงามจับตายิ่งนัก สีสันของท้องฟ้าสีคราม สลับปุยเมฆเป็นย่อม ๆ ทำให้ขับภาพเด่นชัดขึ้น อากาศเย็นจัด เมื่อลมพัดปะทะหน้าความเย็นชาปรากฏชัด ถุงมือ ผ้าพันคอมีคุณค่าสำหรับคณะทุกคน แสงแดดเริ่มจ้า ลดความเย็นลงได้บ้าง ถ้าต้องการให้ได้ อรรถรสจริง ๆ ต้องขึ้นไปดูภาพในมุม 360 องศา บนดาดฟ้าเรือ เลือกชมมุมมองที่แตกต่าง ในขณะที่เรือค่อย ๆ แล่นเป็นวงโค้ง เหมือนเรานั่งชมภาพยนตร์จอยักษ์ มีแพนมุมกล้องจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โฟกัสภาพใดภาพหนึ่ง แช่นิ่งตามอารมณ์ของแต่ละคนที่ต้องการจะเก็บเกี่ยวในแต่ละมุมมอง บันทึกเป็นความทรงจำเพื่อเล่าต่อหรือย้อนรำลึกเมื่อกลับถึงเมืองไทยก็แล้วแต่ความสุนทรีย์ของแต่ละคน
เรือมาจอดที่ท่า ขึ้นเดินชมในมุมใกล้ชิด ให้ครบถ้วนกระบวนการชมที่สมบูรณ์ ค่อนข้างเร่งรีบเพราะมีเวลาจำกัดเพียง 1 ชม. การเลือกหามุมที่สามารถถ่ายทอดให้เห็นอนุสาวรีย์ที่มีขนาดใหญ่ บันทึกภาพตนเองลงในกล้องดิจิทอล ที่มีภาพเบื้องหลังเต็มสเกลของเทพีแห่งเสรีภาพแห่งนี้ ความสวยงามแห่งธรรมชาติรอบ ๆ หาได้ไม่ยาก แต่อนุสาวรีย์แห่งสันติภาพที่มีกว่าร้อยปี ที่ชาวฝรั่งเศสสร้างและส่งเป็นของขวัญให้กับสหรัฐอเมริกา มีความงามสมส่วน ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกตั้งความหวังไว้ถ้ามีโอกาสเดินทางมานิวยอร์ค (New York) ขอให้ได้ยลโฉมความงามของเทพีแห่งเสรีภาพสักครั้ง... เดินชมความงาม เลือกซื้อของที่ระลึกตามสถานะของแต่ละคนที่จะต้องนำพาไปฝากสมาชิกรอบข้างให้ได้ร่วมชื่นชม
ขึ้นฝั่งเมื่อบ่ายโมงเศษๆ คณะจัดการกับอาหารกลางวัน และมุ่งตรงสู่ไทม์ สแควร์ (Time Square) ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังวันหลัง จากนั้นยังมีโปรแกรมที่จะต้องไปขึ้น ตึกเอ็มไพร์ สเตท (Empire State Building) ที่ต้องรอคิวอีกตามเคย ด้านล่างก่อนเข้ามีบอร์ดเล็ก ๆ เขียนแจ้งว่าจะต้องรอนานประมาณ 60-90 นาที ผมลังเลอยู่นาน แต่เมื่อเห็นทุกคนขึ้น ขึ้นก็ขึ้นครับ! ตรวจตราละเอียดอีกเช่นเคย คิวที่ค่อย ๆ ขยับทีละนิดทีละนิด สร้างความเมื่อยและเบื่อหน่าย เข้าห้องน้ำก็ไม่ได้เพราะคิวจะยิ่งยาวออกไป รอประมาณครึ่งชั่วโมง ให้เกิดอาการอยากเข้าห้องน้ำ จึงตกลงกับคุณวิทยา “ว่าเราสองคนขอสละสิทธิ์ไม่ขึ้นยอมเสียค่าตั๋ว” มองหาทางออกและเดินเรียบเรื่อยตามทางออก พบห้องน้ำจึงแวะเข้าทำธุระให้เสร็จ พอออกมาหวังที่จะลงกลับถูกต้อนให้เข้าลิฟต์ขึ้นชั้น 80 ของอาคาร ลิฟต์มาถึงชั้น 80 ต้องต่อลิฟต์ขึ้นอีก 6 ชั้น จนถึงชั้นสูงสุดของตึก เดินออกบริเวณรอบ ๆ ตึก ความรู้สึกที่ เหนื่อย หายเป็นปลิดทิ้ง ...
ภาพแห่งมหานครนิวยอร์ค (New York) ใหญ่โตปรากฏให้เห็นเป็นภาพมุมกว้าง ทิวทัศน์ ที่เห็นเป็นทัศนียภาพของตึกสูงลดหลั่นสุดลูกหูลูกตา สีสันออกแดง ๆ สถาปัตยกรรมที่หลากหลาย อยู่สองริมฝั่งแม่น้ำฮัดสัน (Hudson River) ที่ทอดยาวคดโค้งตามธรรมชาติ แสงแดดยามเย็น ทอประกายสีทองสาดส่องให้เห็นแสงและเงาขับเข้มในส่วนที่ต้องแสงและลดบดบังเงาตึกที่สูงเสียดละเลียด มุมมองด้านบนเป็นมุมมองที่หาดูยาก ความงดงามของผังเมือง การจัดวางรูปแบบ ดูแล้วก็อดนึกถึงบ้านเราไม่ได้ว่ามีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างไร บริบทของการอยู่ การสร้าง และวัฒนธรรมที่แตกต่าง ก็น่าที่จะยอมรับได้ แรงลมที่พัดผ่านแผงเหล็กป้องกันเสียงดังหวีดหวิว เพิ่มความสะพรึงกลัว ประกอบกับบริเวณที่เดินชมนั้น มีความสูงที่เพิ่มขีดความกลัวของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป...อิ่มเอมกับการบันทึก ภาพแห่งความทรงจำ เรารีบลงด้านล่าง ยังคงเห็นคณะยืนรอคิวขึ้น ต้องขอโทษที่ไม่มีเจตนาจะแซงคิว เหตุบังเอิญแท้ๆ ด้านล่างเดินดูร้านรวง มีของที่ระลึกขายมากมาย ถูกบ้างแพงบ้าง ตามแต่คุณภาพและขึ้นอยู่กับทักษะการต่อรองของแต่ละคน รอจนคณะลงมาพร้อมกันและรับประทานอาหารเย็น ก่อนเข้าที่พักเพื่อเตรียมตัวไว้วันรุ่งขึ้น
วันที่ห้า เราออกเดินทางสู่ เมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) ในรัฐเพนซิวาเนีย (Pennsylvania) ห่างจากนิวยอร์ค 46 ไมล์ เป็นเมืองขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของอเมริกาในฝั่งตะวันออก มีประชากรประมาณ 1.5 ล้านคน (2005) ถือเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา เนื่องจากเป็นสถานที่ประกาศเอกราชของชาวอเมริกัน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 และยังเคยมีฐานะเป็นเมืองหลวงชั่วคราว ก่อนที่จะย้ายไปที่กรุงวอชิงตัน ดีซี. เมื่อครั้งที่ ยอร์ช วอชิงตัน ผู้กอบกู้เอกราชและเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาเมื่อ วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1789 ได้ลงนามในกฎหมายสำคัญในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1790 มีผลให้เมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) แห่งนี้มีสถานะเป็น “เมืองหลวงชั่วคราว” จนถึงวันจันทร์แรกของเดือนธันวาคม ค.ศ. 1800 รัฐบาลอเมริกันจึงย้ายไปถิ่นพำนักถาวรที่ กรุงวอชิงตัน ดีซี ผ่านชมศาลาว่าการรัฐ ระฆังแห่งเสรีภาพ สัญลักษณ์แห่งการก่อตั้งประเทศ ใช้เวลาที่นี่อย่างจำกัด ก่อนที่จะแวะรับประทานอาหารย่านไชน่า ทาวน์ (China Town) จากนั้นคณะมุ่งตรงสู่ กรุงวอร์ชิงตัน ดี.ซี. (Washington D.C.) นครหลวงของประเทศ ชมเมืองโดยรอบดูการวางผังเมืองที่สวยงามเป็นระเบียบ ชมย่านกลางใจเมือง สถานที่ราชการ กระทรวง ทบวงกรมต่าง ๆ ตั้งเป็นสัดส่วน ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก ใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ที่หน้ารัฐสภาที่โอ่อาสวยงาม และแวะดูทำเนียบไวท์เฮาส์ (White House) มีการป้องกันอย่างแน่นหนา จากนั้นแวะรับประทานอาหารซีฟู้ดพื้นเมือง จนกระทั่งถึงเวลาพักผ่อน วันนี้พักที่ วอร์ชิงตัน ดีซี เพื่อตอนเช้าจะได้แวะชมบริเวณที่ยังไม่ได้เที่ยวชม
วันที่ หก คณะเราออกจากที่พักเร็วขึ้น เพื่อทำเวลาในการชมอนุสรณ์สถาน อดีตประธานาธิบดีที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา เช่น อับราฮัมลินคอร์น, โธมัส เจฟเฟอร์สัน ที่นี่จัดสวนสาธารณะสวยงาม มีทะเลสาบล้อมรอบ ขณะที่เราเดินชม เห็นรถดับเพลิง หน่วยกู้ภัยจำนวนมากกว่า 10 คัน ตำรวจอีกจำนวนหนึ่งมุงดูบริเวณฝั่งทะเลสาบ อดที่จะสงสัยไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น สอบถามดูได้ความว่ามีกวางตกน้ำเมื่อ 5 นาทีมานี้เอง ผมนึกเปรียบเทียบกับเมืองไทย ที่นี่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาก เหลือเวลาชั่วโมงเศษ คณะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกดู สถาบันสมิทโซเนีย (Smithsonian Institution) พิพิธภัณฑ์ที่มีมากกว่า 10 แห่ง ว่าจะดูอะไร สุดท้ายตัดสินใจดู พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ไม่ผิดหวังเพราะภายในรวบรวมโครงกระดูกของสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์มากมาย สมบูรณ์จริง ๆ ครับ นักวิทยาศาสตร์ที่นี่ขุดค้น และดูแลอย่างจริง ๆ จัง ๆ บริเวณไม่ใหญ่โตมากนักแต่โครงกระดูกที่สมบูรณ์ที่ขุดพบ ทั้งที่ยังอยู่ในหิน มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนขนาดใหญ่ ตระกานตาครับ!ชั้น 2 ยังเป็นแหล่งรวบรวมอัญมณีทุกชนิดที่มีมูลค่ามหาศาล รวมทั้งเพชรเม็ดใหญ่ที่ใคร ๆ เชื่อว่าเป็นเพชรเม็ดเดียวกับ เพชร โฮป (Diamond Hope) ใหญ่ที่สุดในโลก อัญมณีหลากหลาย หินชนิดต่าง ๆ จัดเรียงไว้เป็นสัดส่วน แสงไฟที่จัดไว้พอเหมาะสำหรับท่านที่สนใจจะบันทึกภาพเก็บไว้ดู ไม่หวงห้าม ไปที่ไหน ๆ ของมีค่าจะมีเจ้าหน้าที่ ห้ามถ่ายรูปบ้าง ห้ามยืนใกล้บ้าง ที่นี่เปิดอิสระ ไม่มีเจ้าหน้าที่ ระบบความปลอดภัยดีจริง ๆ ถึงเวลาอาหารกลางวัน วันนี้เป็นอาหารไทย แม้ว่ารสชาติจะแปล่ง ๆ ยังดีกว่าอาหารจีน จากนั้นคณะเดินทางสู่เมือง เวอร์จิเนีย บีช (Verginea Beach) เมืองชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกที่ตั้งของมหาวิทยาลัยรีเจน (Regent University) เย็นนี้คณะเรารับประทานอาหารจีนก่อนเข้าพักที่โรงแรมที่ นอร์ฟอลค์ (Norfolk) เพื่อเตรียมตัวเยี่ยมชม มหาวิทยาลัย และโรงเรียนตามโปรแกรมที่นัดหมายล่วงหน้า
วันที่ เจ็ด คณะเราไปก่อนเวลานัดหมาย หน้ามหาวิทยาลัย รีเจ้นท (Regent University) รองศาสตราจารย์ Dr. Glenn L.Koonce ซึ่งเป็น Chair Educationnal Leadership School of Education แห่ง
Regent University และ Dr. Shauna E. Tonkin ซึ่งเป็น Visiting Professor School of Education เป็นผู้มารอรับคณะ ทักทายกันแล้วจึงพาเข้าห้องประชุม ในห้องประชุมจัดที่นั่งตามรายชื่อของแต่ละคน จากนั้น มีการแนะนำ Dr. A.Arroyo ซึ่งท่านเป็นคณะบดีของ School of Education และแต่ละคนแนะนำตนเอง ตั้งแต่ชื่อ ตำแหน่ง สถานที่ทำงาน จนครบ จากนั้นมีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม แยกกันดูโรงเรียนในสามระดับ คือระดับ อนุบาล (Intermediate) และ ระดับประถม (Middel) ที่ Great Bridge Intermediate school โดยที่ Dr.Rebecca Adams ซึ่งเป็น Principal ในระดับ อนุบาล (Intermediate) และคณะได้เป็นผู้นำชม ส่วนในระดับ Middle School มี Ms.Bev Oliver เป็น Principal เป็นผู้นำชม ส่วนในระดับมัธยม (High School) ไปดูโรงเรียน Oscar Smith Hight School โดยมี Dr.Jan Andrejco เป็น Principal และคณะเป็นผู้นำเยี่ยมชม
ผมและคณะประมาณ สิบคนแยกดูโรงเรียนในระดับประถม โดยที่ Dr. Rebecca นำนักเรียนสองคน นักเรียนชายชื่อ Jame และนักเรียนหญิงชื่อ Pay มาแนะนำตัว และเป็นผู้นำเยี่ยมชมโรงเรียนในแง่มุมต่าง ตอบคำถามเบื้องต้นให้คณะเรา ที่น่าแปลกและแตกต่างกับของเราก็คือ การที่นักเรียนทั้งสองคนจะรับหน้าที่เป็นผู้นำชมโรงเรียน ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง และทางโรงเรียนได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความสามารถในการนำชมได้ ที่น่าทึ่งคือบุคลิกภาพที่แสดงถึงความเชื่อมั่น มีภาวะผู้นำ คำพูดที่ฉะฉาน ชัดถ้อยชัดคำ ท่าทางที่ทะมัดทะแมงดูเป็นธรรมชาติ คำตอบที่ตอบให้กับคณะของเราซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก ทำให้หวนคิดว่า อย่าว่าแต่นักเรียนเลย อาจารย์หรือผู้ที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของเราถ้าถูกฝึกมาเช่นนี้ ผมว่าจะได้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพอีกมากมาย อีกเรื่องที่ต้องขอชมเชย โรงเรียนที่นี่จัดได้สวยงาม สะอาด อุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกจัดอย่างมีระเบียบ
ผมพยายามสังเกตถึงร่องรอยของการจัดสถานที่ ไม่ได้ทำเฉพาะเพื่อให้เรามาดู การจัดแบบนี้น่าจะจัดทำเป็นปรกติ ห้องแรกที่นำเรามาดูเป็นห้องพยาบาล (Clinic) ซึ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย มีพยาบาลประจำคอยดูแลให้ความช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีปัญหาเจ็บป่วยเบื้องต้น เลยมาห้องคอมพิวเตอร์ในห้องนี้มีคอมพิวเตอร์ที่เป็นแล็บท็อป อันนี้ผมมองว่าถ้าจะเทียบกับอเมริกากับเราคงเทียบไม่ได้ เพราะที่นี่เท่าที่ฟัง ทางรัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเต็มที่ เอาเป็นว่า เรามีคอมพิวเตอร์ใช้ในโรงเรียน ใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ ครูที่สอนหรือที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ก็น่าจะยอมรับได้ในงบประมาณที่จำกัด ผ่านเลยมาห้องสมุด เห็นบรรณารักษ์กำลังสอนเด็กอยู่กลุ่มหนึ่ง ให้เกิดความคิดขึ้นมาว่า ที่นี่เขาสอนให้เด็กรักการอ่าน การค้นคว้า เพราะเด็กที่กำลังเรียนท่าทางสนใจ อายุเด็กไม่น่าจะเกิน 7-8 ขวบ เดินเลยมาผ่านห้องสอนเสริม สำหรับเด็กที่มีปัญหาทั้งรายบุคคล และรายกลุ่ม มีครูประจำอยู่ ตรงข้ามเป็นห้องภาษา มีไว้สำหรับเด็กต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น สเปน ที่มีปัญหาเรื่องภาษา มีครูประจำสำหรับช่วยเหลือนักเรียนเหล่านั้น จนมาถึงห้อง Studio มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัย มีการจำลองการออกอากาศ (On Air) ห้องดนตรี และสุดท้ายเป็นโรงยิม ที่ทันสมัย ก่อนมาพบกับ Principal สรุปบรรยายภาพรวม และตอบข้อคำถาม เท่าที่สังเกต การจัดห้องเรียน สะอาด จัดห้องเป็นหมวดหมู่ มีอุปกรณ์การใช้ครบครัน น้ำดื่มมีให้นักเรียนเป็นจุด ๆ อยู่ภายในอาคาร ครูผู้สอนมีครบไม่ขาดเหมือนบ้านเรา หรือบางแห่งเกิน และมีผู้ปกครองที่มีความสามารถ มาเป็นครูอาสาสมัครในการสอนให้กับโรงเรียนอีกด้วย คล้ายในออสเตรเลีย
คณะทั้งสาม กลับมาพร้อมกันที่มหาวิทยาลัย เพื่อรับประทานอาหารกลางวันซึ่งทางมหาวิทยาลัยจัดเลี้ยง เป็นอาหารอเมริกันแท้ ๆ คือแฮมเบอร์เกอร์หลายชนิดเลือกตามความชอบ หลังจากนั้นคณะได้ร่วมกับโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ในการซักถามและตอบปัญหาต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบการศึกษาระหว่างประเทศไทย กับสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเทียบไม่ได้ในเรื่องงบประมาณ แต่ผมไม่อยากให้เทียบในแง่นี้ อยากให้ฝึกเด็กให้เกิดความกล้าคิด กล้าตอบ วิธีคิดเป็นองค์รวม เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ จากนั้น Dr. Koonce ได้บรรยาย เกี่ยวกับโปรแกม ของมหาวิทยาลัยกับผู้ที่สนใจที่จะมาศึกษาทางด้านภาวะผู้นำ (Leader Ship) ที่นี่ จากนั้นทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้คณะได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัย ที่แบ่งเป็นสัดส่วน เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่เต็มไปหมด ได้เข้าชมห้องสมุด และศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะเป็นศูนย์ไม่ใหญ่แต่ก็มีหนังสือที่เป็นงานวิจัยอยู่มากพอสมควร เขาให้ความสำคัญกับงานวิจัย สังเกตเห็นพิมพ์อยู่เป็นจำนวนมาก
ออกจากมหาวิทยาลัยตอนเย็น ถือโอกาสเดินชมอ่าวเชสาพีค (Chesapeak Bay) และท่าเรือ นอร์ฟอร์ค (Norfolk) ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญและมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของทหารเรือ ในแต่ละปี จะมีผู้คนเดินทางมาเที่ยวเพื่อชมการฝึกของทหาร และตลอดทั้งปียังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น Harbor Festival ในช่วงมิถุนายน AFR’AM Festival ในช่วงพฤษภาคม Town Point Virginia Wine Festival ในเดือนตุลาคม และ Children’s Festival ในเดือนตุลาคมเหมือนกัน ก่อนอาหารเย็น และเข้าที่พักตอนค่ำ
วันที่ แปด รถออกจากนอร์ฟอร์ค เวอร์จิเนียร (Norfolk Veginia) มุ่งตรงสู่วอร์ชิงตัน ดี.ซี. (Washington D.C.) เพื่อรับประทานอาหารจีนที่ภัตตาคารที่มีชื่อเสียงในย่าน China Town ที่นักการเมืองระดับประเทศมาใช้บริการ หลังจากนั้นมุ่งสู่นิว เจอร์ซี่ (New Jersey) ซึ่งต้องผ่านเมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) อีกครั้ง ตลอดระยะทางเราแวะพักเพื่อให้คณะเข้าห้องน้ำ พักอิริยาบถ ทุกแห่งที่เป็นที่พัก จัดสถานที่กว้างขวางแบ่งเป็นสัดส่วน สถานที่เติมน้ำมันจะอยู่ห่างจากสถานที่บริการด้านอาหาร ภายในศูนย์อาหาร ยังมีอาหารหลากหลายชนิดให้บริการ ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารที่ง่ายต่อการนำพาไปรับประทานในรถ ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยน่าจะนำมาประยุกต์ใช้คือ ทุก ๆ ที่พักในเส้นทางของเมืองสำคัญ ๆ จะมีบริเวณสำหรับนักท่องเที่ยว มีทั้งแผนที่ขนาดใหญ่บอกจุดที่อยู่และเส้นทางที่จะไป เส้นทางหมายเลขถนนชัดเจน ที่ยิ่งไปกว่านั้น มีหนังสือคู่มือสำหรับนักท่องเที่ยว (Visitors Guide) อย่างละเอียดและปรับปรุงข้อมูลเป็นปัจจุบัน พร้อมแผนที่ เส้นทาง สถานที่สำคัญๆ ที่ควรไป ประวัติของเมือง ร้านอาหาร โรงแรม ราคา หากว่าท่านที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายกอบจ. นายกอบต. หรือโรงเรียน จะไปทำบ้างผมว่าก็เป็นข้อมูลที่นักท่องเที่ยวหรือผู้เยี่ยมชมต้องการ เป็นการประชาสัมพันธ์ที่คุ้มค่า เงินรายได้จากการท่องเที่ยวต้นทุนต่ำครับไม่ค่อยมีปัจจัยเสี่ยงเหมือน “การขายผักผลไม้สด” ไม่ต้องเอาหรู เพราะวันที่ผมไปเที่ยวที่ ลอง ไอซ์แลนด์ (Long Island) ผมได้ลิฟเลต (Leaflet) เป็นข้อความพิมพ์ใส่กระดาษ A 4 พับเป็นสี่ส่วน อธิบายถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ยืนยันว่าได้ประโยชน์ และเป็นผลที่กลับมาในรูปของตัวเงินให้กับประชาชนในท้องถิ่น
อีกอย่างที่อดจะพูดไม่ได้คือป้ายบอกทางที่นี่ใหญ่และชัดเจน บอกล่วงหน้าเป็นระยะ ๆ ที่น่าทึ่ง พอเรารู้สึกว่าเริ่มต้องการเข้าห้องน้ำ ไม่เกิน 5 นาที จะมีป้ายบอกว่าอีกกี่ไมล์จะมีทางออกเข้า Aerea Service ทำให้รู้สึกว่าเขาใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ข้างทางไม่เห็นรถจอดซื้อของตามข้างทาง เรียกว่าการจราจรลื่นไหลไม่มีการติดขัดแม้ว่ารถที่วิ่งมีจำนวนมาก มีรถบรรทุกขนาด 20 ล้อ วิ่งมากมาย ถนนที่เป็น 3 เลน วิ่งไม่ติดขัด สามารถคำนวณเวลาได้ว่าจะไปได้สักกี่ไมล์ อันนี้น่าเก็บมาคิด ไม่ใช่ว่าที่นี่รถน้อยนะครับ แต่เขารักษากฎระเบียบ ไม่มีการแซงกัน ที่นี่จำกัดความเร็วทั้งต่ำสุดและสูงสุด ระหว่างทางไม่มีไฟแดงหรือถนนตัดผ่านถนนหลักให้ต้องหยุดรถ แม้ว่าระยะทางที่ไปจะไกลแสนไกล จะมีที่กลับเป็นเกือกม้าเฉพาะ ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ถ้าคิดให้ดี ว่ารถติด อุบัติเหตุ การขับรถที่ใช้ความเร็วได้ต่ำ การสูญเสียน้ำมันที่เกิดขึ้น การสร้างถนนกลับรถ ถนนยกระดับน่าจะคุ้ม แต่การคิดสลับซับซ้อนอย่างนี้หางานวิจัยสนับสนุนยาก ไม่สามารถมาใช้กับระบบราชการไทยได้ ยากต่อการผ่านกระบวนการของบประมาณ หรือไม่ก็พยายามไม่เข้าใจเพราะจะได้จัดประมูลบ่อย ๆ เพื่อให้เกิดค่านายหน้า (Commission) ก็ไม่รู้
รับประทานอาหารเย็นที่ภัตตาคารจีนที่ New Jersey ก่อนที่จะเข้าพักที่โรงแรมเดิม ย่านราริแทน (Raritan Center) ผมโทรนัดกับ “พี่โกศล” พี่ชายคนเหนือผมที่อยู่ไม่ห่างจากโรงแรม ให้มารับในวันรุ่งขึ้น เพราะโปรแกรมของทัวร์ที่รับผิดชอบจะหมดลง หลายคนแบ่งเป็นกลุ่มอยู่เที่ยวต่อ ผมเลือกไปกับ “พี่ไมตรี” เพื่อแวะเยี่ยมพี่ชายสองคนที่มาอยู่อเมริกานานกว่า 30 ปี ทั้งสองคนได้ กรีน คาร์ด (Green Card) แล้ว จากนั้นทุกคนก็แยกย้ายกันพักผ่อน เพราะเหนื่อยล้าจากการเดินทางระยะไกล
วันที่ เก้า หลังอาหารเช้าทุกคนแยกย้ายกันไปตามที่นัดหมาย พี่โกศล มารับประมาณ 09.00 น. ไปยังบ้านพัก ย่านที่อยู่นั้นเป็นย่านชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในนิวเจอร์ซี่ (New Jersey) ถึงที่บ้านเราพักชั้นบน ที่นี่เป็นบ้านเก่าอายุร้อยกว่าปี ผมตกใจเพราะบ้านพักอาศัย ยังมีสภาพดี สวยงาม การก่อสร้างแข็งแรง เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก มี 3 ชั้น ชั้นใต้ดินไว้เก็บของ ชั้นแรกแบ่งเป็นห้องรับแขก 2 ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ชั้น 2 เหมือนกันเหมาะที่จะอยู่ 2 ครอบครัว มีบันไดขึ้นแยกจากกัน ยังคงมีร่องรอยของเตาผิง ซึ่งสอบถามแล้วได้ความว่า ปัจจุบันกฎหมายห้ามใช้แล้ว ใช้ เครื่องทำความร้อน (Heater) แทน ดูสวยงามแบบดั่งเดิม ย่านนี้เป็นย่านที่ไกลจากนิวยอร์ค (New York) ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่พลุกพล่านเงียบสงบ ค่าครองชีพต่ำกว่า นิวยอร์ค (New York) พูดคุยกันพอประมาณให้หายคิดถึง “พี่อุษา” ซึ่งเป็นภรรยาคนไทย รวมถึง “มีมี่” บุตรสาวพูดคุยกันตามประสาที่ไม่พบเจอมาหลายปี
พี่โกศล พาขับรถชมความงามริมฝั่งแม่น้ำ ฮัสสัน ( Hudson River) ด้านนิวเจอร์ซี่ (New Jersey) ซึ่งเป็นด้านหลังของเทพีแห่งเสรีภาพ สวยงาม สงบเงียบ ผู้คนไม่หนาแน่นเหมือนฝั่งนิวยอร์ค (New York) มองแล้วให้หวนคิดไปว่า บางอย่างเรื่องเดียวกัน รูปเดียวกัน มองคนละมุม เหมือนเหรียญสองด้าน ด้านนิวยอร์ค (New York) ภาพแห่งสับสน ภาพแห่งการแข่งขัน ผู้คนที่หลากหลายชาติพันธุ์มารวมอยู่ การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ถนนหนทาง สถานที่ท่องเที่ยวแออัดไปด้วยนักท่องเที่ยว ผู้คนที่อาศัยที่นี่จะมีคนอเมริกันแท้ ๆ เดินให้เห็นบ้างหรือไม่? หายากจริง ๆ ครับ แต่ฝั่งนิวเจอร์ซี่ (New Jersey) กลับไม่มีความวุ่นวายหลงเหลือ เงียบสงบ สถานที่ชมไม่มีผู้คนเลยแม้แต่คนเดียว เอ! หรือว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะมีมุมที่แตกต่างกันอย่างชนิดขาวกับดำ เหมือนเหรียญสองด้าน คล้ายการเมืองในประเทศไทยในขณะนี้หรือเปล่า? เอาละครับชักจะไปกันใหญ่! เราถ่ายรูปเพื่อให้ดูความสวยงามที่แตกต่าง ความเงียบ และความอึกกระทึกในสถานที่แห่งเดียวกันเมื่อมองคนละมุม แต่ที่เหมือนกันคือความสวยงาม และธรรมชาติที่ถูกจัดให้ลงตัวและสมดุล หากการเมืองไทยคิดข้อนี้ ว่าในความแตกต่างที่เกิด มีเป้าหมายสุดท้ายเหมือนกันคือรักษาสมดุลธรรมชาติของความคิด และความลงตัวของความคิดที่มีจุดของความรับผิดชอบเดียวกัน เมื่อไหร่หนอ? เราถึงจะสร้างจิตสำนึกของคนเหล่านั้นให้เป็นจิตสำนึกเดียวกันฟังแล้วก็เหนื่อย...
ค่ำมาที่ซุปเปอร์มาร์เกตคนจีนซึ่งอยู่ไม่ไกล ในร้านขายของสำหรับคนจีนและคนเอเชีย มีสินค้าทุกชนิดไม่ว่าของ จีน ไทย เวียตนาม เห็นผลทุเรียนแช่แข็ง ซึ่งแน่นอนมาจากเมืองไทย แต่เห็นลำไยสด ไม่แน่ใจว่ามาจากเมืองไทย เพราะลูกใหญ่ และสดมากมีใบติดมาด้วย น่าจะปลูกเองแถว ฟลอริดา ผักบุ้ง ถั่วงอกอาหารยอดนิยม ก็เช่นกัน น่าจะปลูกในโรงเรือน (Green House) เห็นกล้วยไข่ ดีใจเพราะดูด้วยสายตาน่าจะเป็นของไทย แต่พอดูกล่องที่ยังไม่แกะออกวางบนชั้น แปลกใจว่าเป็น Produce of Costa Rica แสดงว่ากล้วยไข่ของไทย มีแนวทางในการทำตลาดในอนาคตหลังเปิดการค้าเสรี ส่วนเลื่อนไปเป็นเมื่อไหร่ต้องติดตามครับ! ของแห้ง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำปลา รวมทั้งน้ำยาที่ใช้รับประทานกับขนมจีนยี่ห้อ “แม่ศรี” พี่โกศลซื้อมา 4-5 กระป๋อง เตรียมทำขนมจีนน้ำยาให้รับประทาน จ่ายเงินจ่ายทองเสร็จเราก็เข้าบ้าน
พี่โกศลทำหน้าที่เป็นพ่อครัว ผมลืมบอกไปว่าพี่โกศลจบการศึกษาปริญญาโททางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่นิวยอร์ค (New York) เคยลงหนังสือพิมพ์และแมกกาซีนในเมืองไทย ถึงความเก่งของคนไทยที่ฝรั่งยอมรับ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับบริษัทน้ำหอมชื่อดัง ๆ ของอเมริกา ที่สำคัญระหว่างเรียน หาเงินเรียนด้วยการเป็นพ่อครัวมือหนึ่งในโรงแรมมีชื่อในนิวยอร์ค (New York) ผมแอบมองว่าจะทำขนมจีนอย่างไร? ในสภาพที่มีเครื่องปรุงอย่างจำกัด และคำถามต่อไปคือรสชาติจะอร่อยแค่ไหน? ในขณะที่ผมไม่ชอบ แต่พี่ไมตรี เป็นนักชิมขนมจีนที่มาจากภาคใต้แท้ ๆ... ต้มน้ำลวกถั่วฝักยาว ล้างถั่วงอก พี่อุษาเก็บโหระพาหลังบ้านมาเป็นผักเครื่องเคียง จากนั้นหันไปหยิบเส้นราเมนญี่ปุ่นเส้นเล็กสีขาว มาลวกน้ำร้อนจนนิ่มได้ที่ เทออกแช่น้ำเย็น เส้นนิ่มกำลังดี ทำน้ำยาสูตรเด็ด โดยตั้งหม้อเปิดแก๊สปานกลางใส่ “น้ำยาแม่ศรี” 3 กระป๋อง (ที่ผมต้องเอ่ยชื่อเพราะรสชาติอร่อยถึงขั้นน่าจะส่งเสริม) ปลาทูน่าชนิดละเอียด 2 กระป๋อง นมสดเล็กน้อย (ถ้ามี) เติมน้ำให้ความเข้มข้นตามที่เราต้องการ พอเดือดเติมรสชาติตามที่ต้องการ เกือบไม่ต้องเติมเลย รสชาติมาตรฐานจริง ๆ เสร็จแล้วซอยพริกน้ำปลา โดยใส่ไลม์ (Lime) (คล้ายมะนาว ลูกใหญ่ สีเขียว รสเปรี้ยวน้อยกว่า) เพิ่มรสชาติ เท่านี้เป็นอันว่าขนมจีนน้ำยาร้อน ๆ พร้อมผักเครื่องเคียงมื้อนี้ รับประทานด้วยความเอร็ดอร่อย ผมสอบถามกับพี่ไมตรี เราได้รับคำชมว่า “อร่อยระดับเชลล์ชวนชิม” การคิดนำเอาส่วนต่าง ๆ มาผสมปรุงแต่งให้ลงตัวนั้นเป็นศิลปะ รสชาติน้ำยาต้องยกให้ “น้ำยาแม่ศรี” การนำเอาเส้นราเมนเส้นเล็กของญี่ปุ่นมาดัดแปลงเป็นขนมจีน เป็นอะไรที่วิเศษ เพราะไม่มีกลิ่นของแป้งข้าวที่หมัก แต่กลับเป็นรสชาติที่หอมหวนชวนรับประทาน อะไรจะเป็นความสมบูรณ์ที่ลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ที่ต้องจดจำ และไม่หวงลิขสิทธิ์ในการทำเมื่ออยู่ในเมืองไทย หรือเมื่อยามห่างไกลหาเครื่องปรุงตามสูตรไทยแท้ดั่งเดิมไม่ได้ ผมขอรับประกัน สุดยอดจนเราต้องร้องขอให้ทำในวันรุ่งขึ้นอีกมื้อ
เราอิ่มอร่อยกับอาหาร และพูดคุยที่โต๊ะเล่าถึงความหลัง เหตุการณ์ปัจจุบัน และเรื่องราวทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพี่ไมตรีเองเป็นคนพื้นที่ในจังหวัดยะลา อยู่มานานมากกว่า 30 ปี ข้อมูลต่างๆ ที่พูดคุยเราไม่ขอพูดในที่นี้ ขอคุยเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวพันทางการเมืองเป็นดีที่สุดครับ ดึกมากผมแยกตัวขึ้นพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวไว้วันรุ่งขึ้น พี่โกศลเตรียมพาเดินในย่านธุรกิจกลางกรุงนิวยอร์ค (New York)
วันที่ สิบ เช้านี้ผมได้รับคำเตือนจากพี่โกศล ว่าต้องรีบออกเดินทางเพราะช่วงบ่าย จะมีฝนตก ลมแรง ผมกลับย้อนถามพี่ว่าอากาศดูแจ่มใสมากทำไมฝนตกล่ะ พี่บอกว่าพยากรณ์อากาศที่นี่แม่นมาก ตอนค่ำจะมีลมแรง ฟัง ๆ ดูยังไม่ค่อยเชื่อเท่าไร? เราออกเดินทางโดยรถมินิบัสที่ออกจากป้ายใกล้ ๆ บ้านวิ่งข้ามแม่น้ำ ฮัดสัน (Hudson River) โดยใช้เส้นทางที่ผ่านอุโมงค์ฮอลแลนด์ (Holland Tunnel) ขึ้นฝั่งนิวยอร์ค (New York) ย่านดาวน์ ทาวน์ (Down Town) เดินผ่าน ไทม์ สแควร์ (Time Squre) , ฟิฟท์ เอเวนิว (Fifth Av.) วอลสตรีท (Walstreet)ผมพยายามเดินดูความเจริญ ของตึกที่ปลูกสร้างเต็มพื้นที่ วันนี้เป็นวันจันทร์ผู้คนเดินขวักไขว่ ที่น่าแปลกคือเห็นแต่คนผิวสีดำเต็มไปหมด มีคนเคยบอกว่าที่นิวยอร์ค (New York) มีแต่คนผิวดำ เออ! ผมว่าจริงแฮะ! หาคนที่เป็นฝรั่งได้น้อยมาก นี่เองการบังคับใช้กฎหมายจึงต้องเข้มงวด มองไปทางไหนเห็นแต่คนต่างชาติ ดูแล้วไม่เหมือนอเมริกา หรือนี่คือสัญลักษณ์ของนิวยอร์ค (New York)ไปเสียแล้ว
แวะดู ร็อคกี้ เฟลเลอร์ ฟาวน์ เด ชั่น (Rocky Feller Foundation) และ เมโทรโพลิแทน มิวเซี่ยม ออฟ อาร์ต (Metropolitan Museum of Art) เดินไล่เรียงตามถนนเรื่อยจนถึงสวนสาธารณะกลางกรุง (Central Park) เป็นสวนสาธารณะที่งดงาม เดินดูธรรมชาติ ภาพทิวทัศน์ที่เป็นช่วงอากาศสดใส ลำธารน้ำใส เป็ดที่ว่ายเล่น แสงแดดที่สว่างส่องให้แสงสีของต้นไม้และตึกสูงระฟ้าทอดลงในน้ำ เป็นเงาสลับเหลื่อมสวยงามเป็นที่สุด ริมลำธารมีผู้คนนั่งพูดคุย ภาพเงาที่สะท้อน สะพานที่ทอดโค้ง สลับกับต้นไม้หลากหลายสีสันที่เตรียมตัวร่วงในอีกไม่เกินสองสัปดาห์ข้างหน้า ดูแล้วให้เกิดรู้สึกเพลิดเพลิน หากจะเทียบเคียงกับสวนลุมพินีที่ถนนพระรามสี่ พอเทียบเคียงกันได้ สวยงามพอกันครับ!
ผ่านเลยมาบริเวณวงเวียน โคลัมบัส (Columbus Cricle) เพื่อลงรถไฟฟ้าใต้ดิน ขึ้นที่บริเวณ ถนน เชิร์ช (Church St.) เดินลัดเลาะผ่านร้านค้าที่เปิดขายอยู่สองข้างทาง ริมถนนมีร้านขายของที่ระลึกไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายสถานที่สำคัญ ๆ รวมถึงผ้าพันคอสวยงาม กระเป๋าสุภาพสตรีมีให้เลือกซื้อ ราคาต่อรองได้ เดินผ่านจนถึงหน้าโบสถ์ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือ เวิร์ลด เทรด เซ็นเตอร์ (World Tade Center Site) ที่เคยเป็นสถานที่ตั้งของตึก อันเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์ธุรกิจการเงินและตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงความว่างเปล่า อีกไม่นานก็คงมีตึกใหม่มาทดแทน
นิทรรศการที่แสดงภาพเหตุการณ์ 9/11 (Nine/Eleven) ผมยืนถ่ายรูปที่ข้าง ๆ ป้าย “here remembering 9/11” เกิดความรู้สึกหดหู่ ผมพยายามเดินดูทุกภาพอย่างช้า ๆ บางภาพสะท้อนความรู้สึกที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ภาพคนนั่งในรถเมล์หยิบรูปตึกแห่งนี้ขึ้นดู สะท้อนความรู้สึกเจ็บปวดซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดกับมนุษย์ที่คิดทำลายล้างกันอย่างโหดร้าย ภาพหญิงสาวที่เดินอยู่ท่ามกลางฝุ่นธุลีที่ปกคลุมทั่วบริเวณ ภาพผู้หญิงชาวมุสลิมที่หลั่งน้ำตา ภาพเศษเหล็กที่บิดงอด้วยความร้อนที่เผาผลาญ ภาพพระที่เดินสวดมนต์ทำพิธี และอีกหลายต่อหลายภาพที่ผมเดินดูผลพวงที่เกิดจากความขัดแย้งของคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนา ทำให้เกิดความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ผู้คนที่ไม่เกี่ยวข้องมากกว่าสามพันคนต้องสังเวยชีวิต เดินดูอย่างสุดอาลัย พี่ไมตรี พี่โกศล รวมทั้งผม น้ำตาคลอ เป็นความรู้สึกที่ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร? ผู้คนดูหนาตาแต่ทุกคนอยู่ในภาวะที่เงียบสนิท การแสดงภาพเหตุการณ์ตั้งแต่ 06.30 น. ของ วันที่ 11 กันยายน 2544 ในภาพบรรยายว่า เช้าตรู่ที่นิวยอร์ค แสงแดดรำไร สดใส ลมเย็นโบยโบก ใครจะคิดว่าวันนี้จะเป็นวันที่จะต้องจดจารึกเป็นประวัติศาสตร์ของโลก ที่เป็นความโหดร้ายของการทำลายล้างของมวลมนุษยชาติ ไล่เรียงเวลาเหตุการณ์ที่เกิดในเวลา 09.03 น. เครื่องบินของ United Airline Flight 175 เข้าชนตึก เวิร์ลดเทรด ด้านหน้าทางทิศใต้ ระหว่างชั้นที่ 78-84 เวลา 09.59 ตึกดังกล่าวพังทลายภายใน 10 วินาที และเวลา 10.28 น. ตึก เวิร์ลดเทรด เซ็นเตอร์ ด้านทิศเหนือพังทลายลงความโกลาหลอีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในวันนั้น สนามบิน ในนิวยอร์ค ตลาดหุ้น สถานที่ราชการ สะพาน อุโมงค์ถูกปิดลง หน่วยดับเพลิง หน่วยกู้ภัยถูกระดมมาช่วยกันอย่างเต็มที่ จนเวลาล่วงเลยถึงกลางดึก 11.29 น. ทุกสิ่งทุกอย่างก็สงบพร้อมด้วยเศษกองอิฐ เศษเหล็กที่ถูกหลอมละลายบิดเบี้ยวไม่เป็นรูปร่างทิ้งทับร่างผู้เสียชีวิต เสียงร้อง โทรศัพท์มือถือที่ติดต่อหาญาติเพื่อขอความช่วยเหลืออีกมากมาย โอ...อะไรจะ ทรมานความทรงจำได้มากกว่านี้
นานแสนนาน แม้ว่าลมเย็นที่พัดเอื่อย ๆ และกรรโชกเป็นบางครั้งจะปลุกเตือนความรู้สึก ถึงผมจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า เหมือนเรื่องราวต่าง ๆ นั้นเพิ่งเกิดขึ้น เหมือนความฝัน ยอดโบสถ์ที่ดูในรูปมีควันขาวคลุ้งฟุ้งกระจาย กับภาพจริงที่ผมกำลังยืนดูอยู่เหมือนภาพสองภาพซ้อนกันในคนละเหตุการณ์ ทิ้งความสลดหดหู่ไว้เพียงตรงนี้ดีกว่านะครับ
ผมเดินลงมานั่งรถไฟไฟ้าใต้ดินที่สถานี World Trade Center ซึ่งซ่อมแซมใหม่ เพื่อกลับสู่ฝั่ง New Jersey ต่อรถมินิบัสไปยัง ถนนโคลัมเบีย (Colubia Avenue) ลงป้ายเดินเพียง 200 เมตร ก็ถึงบ้านพัก เราพักผ่อน เพราะเดินดูบ้านเมืองที่ถือว่าเจริญสูงสุดของโลก ในย่านต่าง ๆ ทั้ง Broadway ซึ่งเป็นย่านของโรงละครที่มีชื่อเสียงที่ถนน Broadway และ 44th Street, สวน Macy’s/Madison Square ที่ 34th Street & 7th Avenue, Emprire State Building บน 34th Street และ 7th Avenue, Chinatown/little Italy ซึ่งอยู่ระหว่าง Broadway และถนน Lispenard , World Trade Center Site ซึ่งอยู่ระหว่าง Broadway และ Dey Street , United Nation อยู่ที่ 1st Avenue และ45th Street, บริเวณ Rockefeller Center /Radio City Music hall อยู่ที่ 49th Street ระหว่าง 6th Avenue และ Rockefeller Plaza, Central Park เป็นสวนสาธารณะซึ่งอยู่ด้านใต้ ระหว่าง 5th และ 6th Avenue, Time Square /Gray Line Visitor Center บนBroadway ระหว่าง 47th Street กับ 48th Street ผ่านด้านหน้า Columbus Circle ที่อยู่ด้านตะวันตกของสวนสาธารณะ ระหว่างถนนสาย 61st & 62nd Street ,และ Metropolitan Museum ซึ่งตั้งอยู่บน 5th Avenue ระหว่าง 81st & 82nd Street
การเรียกชื่อถนนเท่าที่สังเกต ถนนที่ตัดจากตะวันออกมาตะวันตกจะเรียกสตีท (Street) ส่วนถนนที่ตัดจากเหนือไปทิศใต้เขาจะเรียก เอเวนิว (Avenue) วันนี้เดินมากจริง ๆ มากพอที่จะทำให้เราอ่อนเพลีย พอถึงบ้านก็หมดเรี่ยวหมดแรง พักผ่อนสบาย ๆ ด้วยการหลับเพียงช่วงสั้น ๆ ความสดชื่นก็คืนกลับมา อากาศเริ่มมืดครึ้มตามที่พยากรณ์ รับประทานขนมจีนน้ำยาเป็นมื้อที่สอง แล้วแยกย้ายกันพักผ่อน เสียงลมเริ่มแรงขึ้น ใบไม้ที่เตรียมร่วงถูกลมแรงกรรโชก หล่นเต็มถนน ฝนเริ่มหนาเม็ด ตลอดทั้งคืน ผมหลับอย่างสนิทจนรุ่งเช้า
วันที่สิบเอ็ด ตื่นขึ้นมาตอนเช้า ลมยังแรง ฝนยังคงตก พี่บอกว่าช่วงบ่ายฝนหยุดตก ผมเริ่มเชื่อการพยากรณ์อากาศที่นี่ ตามเวลานัดหมาย “พี่สมคิด” ซึ่งเป็นพี่ชายคนเหนือพี่โกศล จะมารับประมาณ 10 โมงเช้า เรารับประทานกาแฟ และอาหารเช้าแบบฝรั่งนิดหน่อยและนั่งสนทนาตามเรื่องราวที่ได้ไปพบเจอมา จนถึงเวลานัดหมาย พี่สมคิด ขับรถมาจอดหน้าบ้าน ผมและทุกคนลงมาทักทายและซักถามสารทุกข์ตามประสาที่ไม่ได้เจอะเจอกันหลายปี โดยมีหมายกำหนดการคร่าว ๆ พี่โกศล พี่อุษา และมีมี่ไปด้วย รวมทั้งหมด 6 คน ไปรับประทานอาหารกลางวันซึ่งเป็นอาหารบุฟเฟ่ (Buffet) แบบญี่ปุ่นไม่ไกลจากที่บ้านพัก และที่นี่มีซุปเปอร์มาร์เกต (Super Market) ของเกาหลี เราไปก่อนเวลาภัตตาคารเปิดจึงเดินดูในห้างที่มีของจากเอเชียขายทุกอย่างเป็นซุปเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ มีผักผลไม้จากทั่วโลกส่งมาขาย ผลไม้ที่น่าสนใจ คือผลไม้ชนิด พร้อมรับประทาน (Ready to Eat) ผสมหลายอย่าง แยกเป็นถาด ส่วนผลไม้สดอื่น ๆ ส่วนมาจากเกาหลี ผักก็เช่นกัน เครื่องกระป๋องมีมาจากไทยบ้าง น่าสนใจว่าผักและผลไม้หลังเปิดการค้าเสรี เราน่าจะมีโอกาสส่งมาขายได้ ที่นี่ไม่ยอมให้ถ่ายรูป แอบถ่ายมาได้บ้างเพื่อมาเปรียบเทียบกับที่อื่น ๆ และให้เกิดแนวคิดในการผสมผสานให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด กุ้งสด ไม่รู้เอามาจากไหนสดมาก ๆ พี่สมคิดซื้อติดรถกลับไปบ้าน เราออกจากห้างเข้าภัตตาคารญี่ปุ่น ด้านข้างเป็นโรงแรมขนาดเล็ก ๆ ในภัตตาคาร มีอาหารให้เลือกหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นอาหารญี่ปุ่น รับประทานกันอย่างจุใจสนนราคาคนละ $ 14 พร้อมเครื่องดื่ม ถ้าเทียบในเมืองไทยหัวละ 500 บาท ผมว่าก็พอรับได้ เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ซึ่งฝั่ง New Jersey จะถูกกว่า เหมือนเราอยู่ฝั่งธนกับกรุงเทพฯ เมื่อข้ามเรือแล้วขึ้นรถไฟฟ้ามาลงแถวๆ ศาลาแดงครับราคาจะต่างกัน บ่ายสองโมง เรารีบมาส่งพี่โกศลและครอบครัว ร่ำลากันที่หน้าบ้านเพื่อเดินทางต่อไปยังบ้าน พี่สมคิด ที่ฝั่ง ลอง ไอซ์แลนด์ (Long Island)
ออกจากบ้านพี่โกศลข้ามฝั่งมาที่เกาะแมนฮัทตัน (Manhattan) ที่ตั้งตัวนิวยอร์ค (New York City) โดยใช้ อุโมงค์ ฮอลแลนด์ (Holland Tunnel) ผ่านย่านไชน์น่า ทาวน์ (ChainaTown) ข้ามสะพาน บรูคลิน บริดจ์ (Brooklyn Bridge) มุ่งตรงสู่ลอง ไอซ์แลนด์ (Long Island) จากความพลุกพล่านเริ่มเห็นทิวไม้หนาแน่น สองข้างทางเป็นป่าสงวน ย่านนี้มีกวางมาก ขับรถต้องระวัง (พี่สมคิดเล่าให้ฟัง) ผมได้เห็นต้นเมเปิล (Maple) ย่านนี้สีแดงเข้มมากกว่าที่เคยเห็น ที่นี่เริ่มหนาวเย็นเร็วกว่านิวเจอร์ซี่ (New Jersey) อีกไม่เกินสองสัปดาห์จะล่วงหมด ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สวยที่สุด แสงแดดยามเย็นที่สาดสองประกายเป็นสีทอง ส่องทอดยาวไปกับทิวไม้ที่สอดแทรกสีเหลืองอมส้มจนแดงเข้มงามจับตายิ่งนัก ผมนั่งดูในรถจนระยะเวลาที่นั่งนั้นผ่านไปรวดเร็ว
พี่สมคิด พาเราผ่านที่ทำงาน วันนี้เป็นวันหยุด พี่สมคิดทำงานที่บริษัท นอร์ธอร์พ กรูมแมน คอร์ปอเรชั่น (Northrop Grumman Corporation) เป็นบริษัท ผลิตเครื่องบิน เรือดำน้ำ รถถัง ใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของอเมริกา ในตำแหน่ง วิศวกร อาวุโส ด้านพัฒนาเทคโนโลยี (Sr.Software Engineer Technology Development) ตำแหน่งที่พี่คิดทำ เป็นตำแหน่งงานวิจัยและพัฒนาระบบซอฟแวร์ (Software) ที่ใช้ในเครื่องบิน รถถัง เรือดำน้ำในอนาคตอีกสิบปีข้างหน้า ฟังดูแล้วก็ให้เกิดความภาคภูมิใจแทนคนไทยที่สามารถทำงานในตำแหน่งสำคัญ ๆ อย่างนี้ แต่ก็ไม่ใช่ของง่ายเพราะพี่สมคิดจบการศึกษาปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์ และยังจบปริญญาโท อีกไม่ต่ำกว่าหกใบในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญปัจจุบันยังเรียนปริญญาโททางด้าน Integrated Systems พี่สมคิดเล่าให้ฟังว่าเราเป็นคนหัวดำ (ฝรั่งเรียก) เวลาจะถูกเลย์ ออฟ (Lay off) พนักงานพวกหัวดำ (หมายถึงพวกเอเซีย และพวกผิวดำ) จะถูกพิจารณาก่อน ดังนั้นถ้าเรียนหลากหลายด้านที่เกี่ยวโยงกันจะได้เปรียบกว่าคนอื่น ที่จริงผมว่า ไม่เฉพาะในอเมริกา ในเมืองไทยหรือที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน เหมือนพี่สมคิดจะสอนเราในทีว่า “มีโอกาสให้เรียนต่อให้มากที่สุดเท่าที่โอกาสจะมีให้” พี่สมคิดไม่เคยมีปัญหาเรื่องงาน มักจะได้งานทำดี ๆ เสมอ
มาถึงบ้านร่วม หกโมงเย็น บ้านพี่สมคิดคล้ายบ้านพี่โกศล อยู่ได้สองครอบครัว สวยงาม เพราะอยู่ริมทะเล ย่าน ร๊อกกี้ พอยท์ (Rocky Point) เป็นหน้าผา มีทางลงเดินสู่ชายหาดที่ยาวสุดลูกหูลูกตา หินหลากหลายสีสันที่ถูกแรงคลื่นซัดจนกลมกลึงสวยงามตามธรรมชาติเดิม ๆ เนื่องจากเป็นหาดที่ไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะ บ้านบนชะง่อนผา แม้ว่าจะไม่ติดชะง่อนทีเดียวนัก แต่ตำแหน่งบ้านเหมาะสมหากอยู่ติดเกินไป เวลาพายุเข้าบ้าน อาจจะพังได้ เพื่อนบ้านที่อยู่ติดหน้าผา เวลาพายุมาอันตรายมาก บางปีที่ดินและบ้านทรุด เสียค่าใช้จ่ายซ่อมแซมแพงมาก พี่คิดและภรรยา (พี่สอง) เป็นคนรักสัตว์ มีทั้งสุนัขแสนรู้ แมว กระต่าย และยังเลี้ยงอาหารนก กระรอก บริเวณบ้าน ย่านนี้เป็นป่าสงวน มีสัตว์ป่า เช่นกวาง แมวป่า ฯลฯ ดูแล้วเป็นธรรมชาติดีจริง ๆ ครับ!
เราสรุปว่าจะทำอาหารกันเอง เมนูเด็ดคือ ต้มยำกุ้ง พัดหน่อไม้ฝรั่ง กับกุ้งสด เท่านี้ก็ทำให้อาหารมื้อเย็นเป็นอาหารที่อร่อยอีกมื้อหนึ่ง ที่น่าสนใจพี่สมคิดและพี่สองยังเป็นคนรักต้นไม้ ปลูกต้น
กล้วย มะลิ ตะไคร้ ใบมะกรูดและอื่นๆ ช่วงฤดูร้อนนำไว้นอกบ้าน อาทิตย์นี้อากาศเริ่มหนาว ยกเข้าไว้ในห้องรับแขก ฉะนั้น ต้มยำกุ้ง วันนี้จึงได้รับความอนุเคราะห์เครื่องปรุงสดๆ จากต้นที่ปลูกไว้ ใช้เวลานั่งคุยถึงความหลัง เมื่อครั้งที่พ่อแม่ยังอยู่ พ่อสอนให้รู้ถึงครรลองชีวิตพ่อสอนว่า “ชีวิตคนเรานั้นเป็นจังหวะ มีทั้งขึ้น มีทั้งลง อย่าหลงใหลได้ปลื้ม เมื่ออยู่ในภาวะขาขึ้น อย่าท้อแท้หมดกำลังใจเมื่อตกอยู่ในภาวะขาลง” ในขณะที่แม่สอนให้รู้จักทำมาหากินอย่างชาญฉลาดว่า “ชีวิตได้สิ่งที่ปรารถนายากยิ่งนัก สิ่งที่รักเสียไปง่ายดายเพียงชั่วพริบตา จงอดทน อดกลั้น และอดออม” เราพี่น้องเจ็ดคนจดจำและยึดถือปฏิบัติเป็นแนวทางของชีวิตมาโดยตลอด วันนี้เป็นวันที่หลับสบายอีกวันหนึ่ง เพื่อเตรียมตัวเที่ยวพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้าย พี่สมคิดและพี่สองอาสาเป็นไกด์พาเราเที่ยวย่าน ลอง ไอซ์แลนด์ (Long Island)
วันที่สิบสอง ออกเดินชายหาดที่หน้าบ้านพี่สมคิด อากาศเช้านี้เย็นสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีกลิ่นคาว ไม่เหนียวตัว แม้จะหนาวเย็น และยิ่งเย็นมากขึ้นเมื่อลมพัดปะทะหน้า ผม พี่สมคิด พี่ไมตรี และ เจ้า Boy ซึ่งเป็นสุนัขแสนรู้ สีดำตัวใหญ่ เดินนำหน้า ออกเดินสำรวจหาดที่เรียกว่า ร็อกกี้ พอยท์ (Rocky Point) ซึ่งสันนิษฐานว่า บริเวณนี้ มีหินที่ถูกกระแสคลื่นตามธรรมชาติ พัดพากระทบกันจนกลมกลึง หลากหลายสีสันสวยงามสลับกับทรายที่สะอาดใสเหมือนแก้วทอดยาว น้ำทะเลที่ถูกลมพัดเห็นฟองขาวเป็นระลอก ตัดกับท้องทะเลสีครามเข้ม กลมกลืนกับท้องฟ้าสีเดียวกันสลับปุยเมฆที่จับกันเป็นกลุ่มก้อนกระจายทั่วท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ เช้านี้อากาศสดใส มองเห็นฝั่งเบื้องหน้าคือคอนเนคติกัท (Connecticut) ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของ อเมริกา
ออกจากบ้านเพื่อเที่ยวในบริเวณ ลอง ไอซ์แลนด์ (Long Island) ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ทางใต้ของ เมือง นิว ยอร์ค (New York City) เป็นแหลมยื่นทางด้าน อ่าว จาไมก้า(Jamiga Bay) จากบ้านพี่สมคิด ย่าน ร็อกกี้ พอยท์ (Rocky Point)ไปตามเส้นทางสาย 25A บรรจบกับเส้นทางหลักสาย 25 มุ่งตรงเลียบแหลมด้านเหนือของ ลอง ไอซ์แลนด์ ซาวด์ (Long Island Sound) วิ่งเลาะเลียบชายฝั่งทะเลอันสวยงาม แวะชมหาดทรายขาวสะอาด ในฤดูนี้ไม่มีคนมาเที่ยวเพราะเริ่มต้นหนาว แต่ยังคงความสวยงามเหมือนเดิม แวะที่ ฮอร์ตัน พอยท์ (Horton Point) และ อีสท์ มาร์เรียน (East Marion) ที่มีหาดทรายขาวสะอาดสวยงาม ท้ายสุดมาหยุดที่ปลายแหลม โอเรียน พ้อยท์ (Orient Point) เป็น ท่าเรือเฟอร์รี่ (Ferry) ที่ข้ามไปยังฝั่ง คอนเนคติกัท (Connecticut) เลยแวะเข้าไปยัง โอเรียน บีช สเตท ปาร์ค (Orient Beach State Park) เป็นชายหาดที่ผู้คนนิยมพักตากอากาศมาก ระยะทางไม่ไกลจากนิวยอร์ค (New York) เท่าไรนัก วันนี้ไม่มีคนมาเยี่ยมเยียนให้เราได้เห็น แต่ยังคงทิ้งล่องรอย ไม่ว่า ลานจอดรถที่มาก ห้องน้ำสะอาด โต๊ะสำหรับนั่งรับประทานอาหารเป็นหมู่คณะ (Picnic) หาดทรายขาวสะอาด ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีมี ลิฟเล็ท (Leaflet) พิมพ์ด้วยกระดาษธรรมดาๆ เนื้อหาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณนั้น ไม่ว่าสถานที่ดูนก ป่าสงวนเขตใกล้เคียง เห็นแล้ว อบต. อบจ. บ้านเราน่าที่จะเอาเป็นตัวอย่างครับ
ใช้เวลาไม่นาน ลมค่อนข้างแรง อากาศหนาวเย็นมาก แดดค่อนข้างแรง ใครที่มาที่นี่ควรมีแว่นกั้นแดดที่กันแสงยูวี สูง ๆ ช่วยถนอมสายตาได้มากทีเดียว แวะรับประทานอาหารกลางวันตอนบ่ายสองโมง ทุกคนลงมติ ว่าจะรับประทานอาหารแบบอเมริกันแท้ ๆ เข้าไปในร้าน ดินเนอร์ (Dinner) สั่ง แซนวิส สอดไส้เนื้อย่าง (Hamburger) รสชาติเยี่ยม ภายในร้านมีโต๊ะเล็กนั่งได้ สองถึงสี่คน และมีที่นั่งหน้าเค้าเตอร์ (Counter) ช่วงที่เราเข้าไปโต๊ะ ยังไม่ว่าง จึงเลือกนั่งหน้าเค้าเตอร์ ที่นี่มีคนบริการ สองคน มีคนทำครัวอีกสองคนเท่านี้ ก็สามารถเปิดขายอาหารได้แล้ว ใช้เวลาไม่นาน เพราะเป้าหมายต้องการแวะชิมไวน์ที่มีชื่อเสียงใน ลอง ไอซ์แลนด์ (Long Island) เรามาแวะร้าน “Pindar Vineyards Winery&Pavilion” เป็นไร่องุ่นที่ทำไวน์เก่าแก่ของครอบครัวหนึ่งที่อาศัยที่นี่ เริ่มตั้งแต่ปี 1979 เราแวะชิมไวน์ที่มีอยู่มากมายหลายชนิดทั้งไวน์แดง ไวน์ขาว แต่ละชนิดตั้งแต่หวานน้อยจนหวานมาก ผมชิมไปชิมมาเริ่มมึน ก่อนตัดใจซื้อมาฝากคนคอไวน์ก็เท่านั้นเอง !
ก่อนเข้าบ้านแวะที่ห้องสมุดสาธารณะ ย่าน ร๊อคกี้ พอยท์ (Rocky Point) เขาให้ความสำคัญ เพราะทั้งสถานที่ และหนังสือถูกจัดเป็นหมวดหมู่จำนวนมาก แบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นใต้ดิน มีห้องที่แบ่งไว้ใช้จัดกิจกรรมต่าง มีห้องกฎหมายรวมอยู่ด้วย ชั้นสองเป็นห้องสมุด แบ่งเป็นหมวดหมู่ มีห้องอ่านหนังสือ สังเกตเห็นเด็กนักเรียนมานั่งทำงาน ทำการบ้าน บรรยากาศอย่างนี้บ้านเราไม่ค่อยพบเห็น ชั้น 3เป็นห้องประชุมใหญ่ที่ใครๆ สามารถมาขอใช้ได้ ห้องสมุดที่นี่ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะชุมชนให้ความสำคัญต่อการอ่าน มีผู้ปกครองที่นำบุตรหลาน มาค้นหาหนังสือ มาก พอสมควร กลับถึงบ้านเตรียมอาหารเย็น แต่นึกได้ว่า ยังไม่ได้ซื้อของฝากคนที่ทำงาน และคนที่บ้าน จึงชวน พี่สมคิด ออกมาห้างใกล้ ๆ เป็นห้างสรรพสินค้าเล็ก ๆ เดินดูเครื่องสำอาง ครีมทาผิวบ้าง ช็อคโกแลต บ้างตามสมควรก่อนเข้าบ้าน เย็นนี้เราทำอาหารแบบง่าย ๆ และเตรียมตัวกลับในวันรุ่งขึ้นต่อไป
วันที่ สิบสาม เช้านี้เป็นเช้าสุดท้ายที่ต้องร่ำลา “พี่สอง” และ “เจ้า Boy” สุนัขแสนรู้ ก่อนกลับถ่ายรูปคู่กับเจ้า Boy มิฉะนั้นจะเกิดอาการงอนเล็กน้อยครับ! ออกเดินทางเช้า เพราะกลัวรถติด ระหว่างทางเราสนทนาเรื่องต่าง ๆ พอเข้าเขตเมืองรถเริ่มหนาตา โชคดีที่เส้นทางไปสนามบิน เราใช้ถนนเลนพิเศษสำหรับรถยนต์ที่มีผู้โดยสารมากกว่าหนึ่งคน (Car Pool) คนอเมริกันบางคน ไม่เคารพกฎระเบียบ เหมือนกันครับ ผมว่าทั่วโลกมีคนที่อยู่นอกกติกาทั้งนั้น เพราะขณะเราวิ่งอยู่ในเลนเฉพาะ เห็นฝรั่งนั่งมาคนเดียวขับเข้าเส้นทางดังกล่าว และเห็นตำรวจเรียกปรับตลอดเส้นทาง บางคนก็ขับรถและคุยโทรศัพท์ ผิดกฎหมายเช่นกัน ถ้าถูกจับ ปรับแพง และบันทึกประวัติ วิ่งมาเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบมากนัก เพราะเครื่องออกตอน 11.00 น. มีเวลา เส้นทางออกไปสู่ถนนอื่น ๆ มีเส้นทางเฉพาะมีป้ายบอกเป็นระยะ เป็นระเบียบมองเห็นชัดเจน กำหนดระยะความเร็วขั้นต่ำและสูง ความเร็วต่ำสุด 40 ไมล์ สูงสุดไม่เกิน 55 (1 ไมล์เท่ากับ 1.6 กม.)
ถึงทางเข้าสนามบิน จนถึงทางเข้าอาคารที่ 4 สายการบินไทยใช้เป็นอาคารขาเข้าและขาออก พี่สมคิดมาส่งเราที่ชั้นอาคารผู้โดยสารขาออก ร่ำลากันอย่างรวดเร็วเพราะไม่มีที่จอดรถ ส่งหน้าอาคารเราก็สามารถออกตั๋ว (Check In) ยุ่งยากตอนเอ็กซ์เรย์ (X-ray) กระเป๋าที่จะโหลด (Load) เข้าใต้เครื่อง และตรวจละเอียดอีกครั้งเป็นรายบุคคล ต้องเอาเครื่องสำอาง ครีม ของเหลวใส่ถุงพลาสติกใส เสื้อแจ๊คเกต (Jacket) เข็มขัด รองเท้าต้องถอด เรียกว่าตรวจอย่างละเอียด บางคนแสดงอาการไม่พอใจ เพราะอาจจะหลงลืม มีเหรียญ สร้อยคอ ก็น่าสงสัยอยู่หรอกครับ! ทางที่ดีแยก หรือถอดออกใส่กระเป๋าถือ จะทำให้กระบวนการต่าง ๆ ง่ายและไม่เสียอารมณ์ ด้านในมีทหารเดินกันขวักไขว่ อบอุ่นมากกว่าน่ากลัว...
สิบเจ็ดชั่วโมงเศษ ต้องนั่งในเครื่องบิน ได้ที่นั่งตอนกลางใกล้ห้องน้ำอีกเช่นเคย คราวนี้ไม่มีเสียงดังมากนัก แต่ที่น่ารำคาญ เป็นกลุ่มทัวร์คนไทย อยู่ในอเมริกา จนได้สัญชาติอเมริกัน เพราะสังเกตจากพาสปอร์ต ยืนคุยด้านหน้าที่ผมนั่ง ทั้งคุยเสียงดังแบบไม่เกรงใจใคร เหมือนไม่เคยพบกันมานานแสนนาน ทั้ง ๆ ที่มาทัวร์กลุ่มเดียวกัน รู้จักกัน ผมนั่งฟังจนนอนไม่หลับ สร้างความรำคาญต่อผู้อื่น ผมทนฟังแล้วเกิดอาการหงุดหงิด คือคนไทยกลุ่มนี้มาทำงานที่อเมริกานานแล้ว คงลืมไปว่าประเทศไทยคือพื้นแผ่นดินที่ให้กำเนิดชีวิต! แล้วทำไม? ท่านถึงคิดว่าพื้นแผ่นดินนี้ไม่ดี ผมฟังอยู่นานสองนานไม่เห็นชมประเทศไทย เกือบจะถามออกไปแล้วว่า “เมื่อไม่ดีแล้วจะกลับมาทำไมกันล่ะ!ครับ” สะกดใจไว้ดีกว่า ที่จริง ผมเดินทางไปประเทศที่สำคัญ ๆ และเป็นประเทศที่เป็นมหาอำนาจ ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ด้านการเมือง ไม่ว่า ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น เยอรมันนี รัสเซีย ฯลฯ ผมว่าถ้ามองอย่างเป็นธรรม ในบริบทของแต่ละประเทศ ความเจริญ ความเหมาะสมเป็นไปตามปัจจัยที่เอื้อ ใครจะมองมุมใด เปรียบเทียบมุมไหน การเปรียบเทียบที่ถูกต้อง ควรเปรียบเทียบมุมเดียวกัน ปัจจัยแวดล้อมที่เหมือน ๆ กัน ในเวลาเดียวกัน ในสังคมหรือวัฒนธรรมที่เหมือนกัน แต่ถ้าหากจะเปรียบเทียบเพื่อนำมาพัฒนา อาจเปรียบเทียบต่างเวลา ต่างสถานการณ์ ต่างปัจจัยพออนุโลมได้เพราะนำมาเพื่อปรับและพัฒนา ถ้าเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดความแตกต่าง โดยมีพื้นฐานโน้มเอียง (Bias) เข้าข้างตนเอง ผมว่าถ้าคิดอย่างนั้น คนเหล่านั้นใจยังไม่เปิดกว้าง อย่าไปใส่ใจเลยครับ! เพราะมาแล้วก็ไป... คิดไปใจร้อนรุ่มเปล่าๆ ไม่เอาดีกว่า... สวัสดีครับ!!!

..........................................................................